เพื่อก้าวไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ อันเป็นเป้าหมายร่วมของสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบเรื่องการจัดการขยะพลาสติก โดยตั้งธงสองเป้าหมายในปี 2565
เป้าหมายแรก “แบน” พลาสติก 4 ชนิดแบบเลิกใช้เด็ดขาดปีหน้า ได้แก่ กล่องโฟมบรรจุอาหาร ถุงพลาสติกหูหิ้วความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน แก้วน้ำพลาสติกความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และหลอดพลาสติก
เป้าหมายที่สอง หมุนพลาสติก 7 ประเภทให้กลับมาใช้ประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพลาสติกเป้าหมาย ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว (HDPE LLDPE LDPE และ PP) บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว (HDPE และ LL/ LDPE) ขวดพลาสติก (ทุกชนิด) ฝาขวด แก้วพลาสติก ถาดกล่องอาหาร และช้อน ส้อม มีด
นโยบายเลิกใช้พลาสติกดังกล่าวอาจจะถูกใจคนรักสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องการลดปริมาณขยะในเมื่อการบริโภคยังเหมือนเดิม เมืองใหญ่ๆ หลายเมืองในโลก ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และไม่ได้เน้นแค่พลาสติก แต่วางโรดแม็ปที่เน้นการจัดการขยะทั้งในเชิงโครงสร้างและนโยบาย
นิว นอร์มอล สัปดาห์นี้ พาไปดู “เมืองต้นแบบ” ไร้ขยะ 3 เมืองในเอเชีย…!!
เกาหลีใต้ : CleanCUBE ถังขยะอัจฉริยะ
โซลเป็นอีกเมืองหนึ่งที่คนไทยชอบไปเยือนก่อนหน้านี้ ถนนในกรุงโซลล้นหลามด้วยขยะ แต่ในปี 2561 Eunomia Research and Consulting ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป จัดอันดับให้เกาหลีใต้เป็นประเทศ ที่มีการรีไซเคิลขยะได้ดีและมากที่สุดในโลก
ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลเกาหลีใต้ออกกฎหมายสองตัวคือ Waste Control Act และ Act of Promotion of Saving and Recycle of Resources กฎหมายสองตัวนี้เน้นเรื่องหลัก 3R ชนิดเข้มข้น ทั้งลด ใช้ซ้ำ หมุนเวียน (reduce, reuse, recycle) เกาหลีใต้ปักธงว่าในปี 2573 หรือทศวรรษหน้าจะต้องลดขยะพลาสติกให้ได้ร้อยละ 50 และรีไซเคิลให้ได้ร้อยละ 70 กระบวนการจัดการขยะของเกาหลีใต้นับว่าคล้ายกับญี่ปุ่น แต่มี “ของเล่น” ที่เน้นเทคโนโลยี มาใช้ในเมกะซิตี้อย่างกรุงโซล นัยว่าเป็นการเพิ่มพูนภาพลักษณ์ความเก่งในด้านนี้ให้โลกเห็นชัดขึ้น
“ของเล่น” ที่ว่าคือถังขยะอัจฉริยะจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือคลีนคิวบ์ (CleanCUBE) มีกลไกบีบอัดขยะให้เล็กลงโดยใช้มอเตอร์ ทำให้จุขยะได้มากกว่าถังขยะทั่วไปถึง 5 เท่า หรือ 720 กก. ประมาณ 8 เท่าของถังขยะแบบเดิมๆแต่การทิ้งขยะใช่ว่าจะ “ฟรี” คนที่จะทิ้งต้องนำขยะมาชั่งน้ำหนัก เครื่องจะคำนวณค่าใช้จ่ายจากการทิ้งเศษอาหาร แล้วส่งใบเรียกเก็บไปที่บ้านซึ่งระบุในบัตรประชาชนของผู้ทิ้งขยะ ขยะจะเดินทางจากถังไปสู่ระบบกำจัด โดยเฉพาะถังที่รับขยะอาหารจะเวียนกลับไปเป็นปุ๋ย และยังแถมเชื่อมต่อระบบ wi-fi เพื่อแจ้งตำแหน่งว่า “ฉันอยู่ตรงไหน” บ้างในถนนสายต่างๆ แนวคิดถังอัจฉริยะนี้มาจากกลุ่มสตาร์ตอัพ Ecube Labs ไหนๆก็เวิร์กซะขนาดนี้ก็ทำขายเสียเลย ตอนนี้ CleanCUBE จำหน่ายออนไลน์ ส่งข้ามประเทศได้เลย